Poincaré, Raymond (1860-1934)

นายเรมง ปวงกาเร (พ.ศ. ๒๔๐๓-๒๔๗๗)

 เรมง ปวงกาเรเป็นรัฐบุรุษและนักการเมืองชาตินิยมและอนุรักษนิยมที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศสที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ (Third French Republic)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๒๐ และเป็นนายกรัฐมนตรีในวาระต่าง ๆ กันระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๒-๑๙๒๙ รวม ๕ ครั้ง นอกจากนี้ เขายังได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๘๗ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๓-๑๙๐๖ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ปวงกาเรเรียกร้องให้มีการลงโทษเยอรมนีอย่างหนัก ทั้งยังเห็นว่าสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ลงโทษเยอรมนีน้อยเกินไปและไม่ได้ให้การคํ้าประกันความมั่นคงทางด้านพรมแดนที่ติดต่อกับฝรั่งเศสดีพอ ฉะนั้น เมื่อเยอรมนี ไม่สามารถชำระค่าปฏิกรรมสงครามตามกำหนดเวลาปวงกาเรจึงส่งกองทัพเข้าไปยึดครองแคว้นรูร์ (Ruhr) ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ และในทศวรรษ ๑๙๒๐ เขายังแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสภาพเงินเฟ้อของประเทศในช่วงหลังสงครามโดยการลดค่าเงินฟรังก์ถึง ๒ ครั้ง คือ ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ และ ค.ศ. ๑๙๒๘ โดยเฉพาะครั้งหลังประสบความสำเร็จมากทำให้เขามีชื่อเสียงโดดเด่นและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

 ปวงกาเรเกิดเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๖๐ ที่เมืองบาร์-เลอ-ดุก (Bar-le-Duc) ในเขตเมิส (Meuse) เป็นบุตรของนีโกลา อองโตแนง เอแลน ปวงกาเร (Nicolas Antonin Hélène Poincaré) วิศวกรที่เป็นข้าราชการพลเรือนในตำแหน่งสูง เขาเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนโปลีเทคนิค (Ecole Polytechnique) และต่อมาเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยปารีส ปวงกาเรได้เป็นเนติบัณฑิตใน ค.ศ. ๑๘๘๒ หลังจากนั้นก็ออกมาประกอบอาชีพทนายความผลงานทางด้านกฎหมายที่โดดเด่นของเขาคือ การว่าความให้ชูล แวร์น (Jules Verne) นักเขียนชื่อดังของฝรั่งเศสในคดีที่เออแชน ตูร์แปง (Eugène Turpin) นักเคมีผู้ประดิษฐ์วัตถุระเบิดเมลิไนต์ (Melinite) ฟ้องศาลว่าแวร์นนำบุคลิกของเขามาสร้างเป็นตัวละครเอกที่เป็น “นักวิทยาศาสตร์สติเสีย” (Mad Scientist) ในหนังสือชื่อ Facing the Flag ในคดีนี้ปวงกาเรสามารถว่าความปกป้องแวร์นจนชนะคดีทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น (ต่อมาในจดหมายที่แวร์นเขียนถึงปอลน้องชายของเขา แวร์นได้กล่าวในทำนองว่าอันที่จริงเขาต้องการทำลายชื่อเสียงของตูร์แปง)

 ปวงกาเรเริ่มชีวิตทางการเมืองใน ค.ศ. ๑๘๘๗ โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตเมิส เขาสร้างชื่อเสียงในสภาโดยแสดงความสามารถทางด้านเศรษฐกิจและการคลังจนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการงบประมาณระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๐-๑๘๙๑ และ ค.ศ. ๑๘๙๒ ใน ค.ศ. ๑๘๙๓ เมื่อนายกรัฐมนตรีชาร์ล ดูปุย (Charles Dupuy) จัดตั้งรัฐบาลขึ้นเป็นครั้งแรก เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศิลปกรรม และศาสนาระหว่างเดือนเมษายน-พฤศจิกายนปีเดียวกัน ขณะมีอายุเพียง ๓๓ ปี นับเป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ และยังได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลดูปุย ๒ และ ๓ ระหว่างเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๙๔-มกราคม ค.ศ. ๑๘๙๕ ต่อมา เมื่ออาเล็กซองดร์ รีโบ (Alexandre Ribot) จัดตั้งคณะรัฐบาลต่อจากดูปุยใน ค.ศ. ๑๘๙๕ ปวงกาเรก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง แต่เป็นในช่วงสั้น ๆ เพราะเขาไม่ถูกกับนักการเมืองกลุ่มหัวรุนแรงในคณะรัฐบาลรีโบจึงลาออกในปีเดียวกัน อย่างไรก็ดี ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๘๙๕ ปวงกาเรก็ได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานรัฐสภาและสามารถรักษาตำแหน่งไว้ได้จนถึง ค.ศ. ๑๘๙๗ แม้ว่าจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มหัวรุนแรงในรัฐสภาเท่าใดนัก

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ ปวงกาเรร่วมมือกับนักการเมืองที่เคยอยู่ในกลุ่มของเลอง กองแบตตา (Léon Gambetta)* จัดตั้งพรรคพันธมิตรริพับลิกันประชาธิปไตย (Democratic Republican Alliance-ARD) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพรรคกลาง-ขวาที่สำคัญที่สุดในสมัยสาธารณรัฐที่ ๓ แม้ว่าอนาคตทางการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะยังคงรุ่งโรจน์สำหรับเขาอยู่ แต่ปวงกาเรก็ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน ค.ศ. ๑๙๐๓ เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสูงหรือวุฒิสภา (Senate) ในปีเดียวกันซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วในทางการเมืองถือว่าการเป็นสมาชิกวุฒิสภามีความสำคัญน้อยกว่าสภาผู้แทนราษฎรอย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ปวงกาเรก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งในรัฐบาลชุดที่ ชอง มารี แฟร์ดีนอง ซาร์รียง (Jean Marie Ferdinand Sarrien) เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้น ๆ และยังคงประกอบอาชีพทนายความไปพร้อม ๆ กันด้วย ในช่วงนี้ปวงกาเร จัดพิมพ์หนังสือที่เขาเป็นผู้เขียนขึ้นหลายเรื่องซึ่งเป็นงานด้านอักษรศาสตร์และการเมือง

 ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๒ ปวงกาเรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากโชแซฟ ไกโย (Joseph Gaillaux) นับเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของเขาและได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย ปวงกาเรดำรงตำแหน่งทั้งสองมาจนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๓ ในระหว่างนี้ฝรั่งเศสเริ่มถูกคุกคามจากเยอรมนีเขาจึงดำเนินนโยบายทางการทูตอย่างมุ่งมั่นและเข้มแข็งเพื่อล้อมกรอบเยอรมนี ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ ปวงกาเรได้ให้ความมั่นใจต่อรัสเซียว่ารัฐบาลของเขาจะยืนหยัดรักษาระบบพันธมิตรระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซียไว้อย่างเข้มแข็ง และต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๒ ปวงกาเรยังได้ลงนามในความตกลงระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษซึ่งประเทศทั้งสองให้คำมั่นว่าจะมีการปรึกษาหารือร่วมกันในกรณีที่มีวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศเกิดขึ้น รวมทั้งสัญญาว่าจะร่วมมือทางการทหารระหว่างกันด้วย แม้ว่าการสนับสนุนของฝรั่งเศสภายใต้การนำของปวงกาเรที่มีต่อความเคลื่อนไหวของรัสเซียในคาบสมุทรบอลข่าน (Balkans) และการแสดงท่าทีที่เฉยเมยของเขาต่อเยอรมนีจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาเป็นผู้สนับสนุนให้สงครามเกิดขึ้นก็ตาม แต่ปวงกาเรก็เชื่อว่าในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น สงครามในยุโรปเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ฉะนั้น การสร้างพันธมิตรเพื่อคํ้าประกันความมั่นคงปลอดภัยของฝรั่งเศสจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ปวงกาเรมีความกลัวมากว่าฝรั่งเศสอาจถูกโดดเดี่ยวดังเช่นที่เคยเป็นมาแล้วใน ค.ศ. ๑๘๗๐ หากเป็นเช่นนั้นอีกฝรั่งเศสก็จะตกเป็นเหยื่อของเยอรมนีที่มีอำนาจทางทหารเหนือกว่าอย่างง่ายดาย

 อย่างไรก็ดี ในวันที่ ๑๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๓ ปวงกาเรก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐที่ ๓ สืบต่อจากอาร์มอง ฟอลลีแยร์ (Armand Fallière) โดยสามารถเอาชนะ ชอร์ช เกลมองโซ (Georges Clémanceau)* ศัตรูทางการเมืองตลอดชีวิตของเขาได้อย่างขาดลอย และแม้ว่าตำแหน่งประธานาธิบดีจะมีอำนาจในทางการเมืองน้อย แต่เขาก็หวังว่าจะทำให้เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมากขึ้นและเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ขวา และกลาง ปวงกาเรจึงพยายามดำเนินงานทางการเมืองในแนวทางดังกล่าวตลอดมาจนทำให้ประธานาธิบดีมีอำนาจมากเป็นครั้งแรกนับแต่สมัย ปาตรีซ มักมาอง (Patrice MacMahon)* ในทศวรรษ ๑๘๗๐ ในฐานะนักการเมืองชาตินิยมและอนุรักษนิยมปวงกาเรยังส่งเสริมให้มีการเสริมสร้างกำลังกองทัพให้เข้มแข็งขึ้นเพราะเชื่อว่าสงครามจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนนอกจากนี้ เขายังผลักดันรัฐสภาให้ผ่านกฎหมายที่เพิ่มระยะเวลาการเข้าประจำการของทหารเกณฑ์จาก ๒ ปีเป็น ๓ ปี พร้อมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษและรัสเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ปวงกาเรก็สามารถประคับประคองเอกภาพชองฝรั่งเศสมาได้ตลอดสงคราม ทั้งยังพยายามเข้าไปมีอิทธิพลครอบงำการดำเนินนโยบายต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ปวงกาเรเป็นผู้ขอให้เกลมองโซเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเพื่อทำให้ฝรั่งเศสมีความเข้มแข็งขึ้นรวมทั้งให้การสนับสนุนเกลมองโซในทางการเมืองมาโดยตลอด และเมื่อสงครามสิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ แม้ฝรั่งเศสจะอยู่ในฝ่ายชนะสงครามแต่ปวงกาเรก็มีความเห็นว่าฝรั่งเศสยอมลงนามในสัญญาสงบศึก (Armistice)* เร็วเกินไป เพราะกองทัพฝรั่งเศสยังคงมีกำลังมากพอที่จะยกเข้าไปบุกโจมตีเยอรมนีได้อีกไกล

 ในช่วงการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ปวงกาเรต้องการให้ฝรั่งเศสยึดดินแดนไรน์แลนด์ (Rhineland) จากเยอรมนีมาอยู่ใต้การควบคุมของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างถาวร เขาจึงเสนอบันทึกความจำต่อที่ประชุมโดยกล่าวว่าหลังสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* เยอรมนีได้ครอบครองดินแดนของฝรั่งเศสหลายแห่ง ทำให้ฝรั่งเศสต้องสูญเสียทรัพยากรไปเป็นจำนวนมหาศาลและฝรั่งเศสก็ยังไม่ได้รับดินแดนเหล่านั้นกลับคืนมาทั้งหมด ฉะนั้นเยอรมนีจึงควรต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เยอรมนีเป็นต้นเหตุทำให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ เขายังให้เหตุผลว่าหากฝ่ายสัมพันธมิตรไม่เข้าไปครอบครองไรน์แลนด์ในขณะนี้ ต่อไปหากต้องการเข้าไปยึดครองอีกอาจถูกเยอรมนีกล่าวหาว่าเป็นผู้รุกรานและฝ่ายสัมพันธมิตรจะแน่ใจได้หรือว่าดินแดนฝั่งซ้ายของแม่นํ้าไรน์จะปราศจากทหารเยอรมัน เยอรมนีจึงไม่สมควรที่จะมีทั้งกองทหารหรือป้อมค่ายริมฝั่งซ้ายของแม่นํ้าภายในอาณาบริเวณ ๕๐ กิโลเมตรทางตะวันออกของแม่น้ำไรน์แต่สนธิสัญญาแวร์ซายไม่ได้กำหนดให้มีการตรวจตรากองทัพและการเสริมสร้างกำลังกองทัพบนฝั่งซ้ายหรือในที่อื่น ๆ ในเยอรมนีแต่อย่างใด การไม่มีเงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้มาตราที่กำหนดให้สันนิบาตชาติ (League of Nations)* สามารถออกคำสั่งให้มีการสอบถามได์ใม่มีความหมายแต่ประการใด ฝ่ายสัมพันธมิตรจะไม่มีการคํ้าประกันว่าภายหลังการสิ้นสุดระยะเวลา ๑๕ ปีของการยึดครองและถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายของแม่นํ้าไรน์แล้ว เยอรมนีจะไม่ส่งกองทัพเข้าไปแทนที่ในบริเวณนี้ และหากไม่ส่งกองทัพเข้าไปโดยทันที เยอรมนีก็จะสามารถกระทำได้อย่างง่ายดายในภายหลัง ฉะนั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงควรดำเนินการอย่างรอบคอบและระมัดระวัง

 ข้อเสนอที่จะให้ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งกองทัพเข้าไปยึดครองไรน์แลนด์ของปวงกาเรได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากจอมพล แฟร์ดีนอง ฟอช (Ferdinand Foch)* ซึ่งถึงกับเสนอให้ปวงกาเรใช้สิทธิตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนฝรั่งเศสในการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาแวร์ซายเสียเอง เนื่องจากเกรงว่าเกลมองโซอาจไม่ทำตามความต้องการของปวงกาเร แต่ปวงกาเรก็ไม่ได้ทำตามข้อเสนอของฟอช และยังคงให้อำนาจแก่เกลมองโซในการดำเนินการเจรจาอย่างเต็มที่

 หลังครบวาระการเป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ปวงกาเรก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาอีกครั้ง และได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการชำระค่าปฏิกรรมสงครามด้วย นอกจากนี้ เขายังได้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมร่วมหรือพรรคอนุรักษนิยมผสมที่มีชื่อว่า “กลุ่มร่วมแห่งชาติ” (Bloc National) ซึ่งมีผลให้ปวงกาเรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่นี้ ปวงกาเรดำเนินนโยบายต่อต้านเยอรมนีอย่างรุนแรง เพราะมีความเชื่อมั่นว่าเยอรมนีเป็นผู้ผิด ฉะนั้นจึงต้องชดใช้การกระทำของตนอย่างเต็มที่เขาสร้างความชอบธรรมให้แก่นโยบายและความคิดดังกล่าวโดยมักกล่าวต่อสาธารณชนว่าประชากรของเยอรมนีเพิ่มขึ้นทุกที อุตสาหกรรมก็ไม่ได้รับผลกระทบ เยอรมนีไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องซ่อมแซม ไม่มีเหมืองแร่ที่มีน้ำท่วมขังทรัพยากรทั้งบนดินและใต้พื้นดินก็ไม่ได้ถูกทำลาย ภายใน ๑๕ หรือ ๒๐ ปี เยอรมนีจะเป็นนายของยุโรป ในขณะที่ตรงหน้าของเยอรมนีคือฝรั่งเศสซึ่งมีประชากรที่จะเกือบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ปวงกาเรไม่พอใจอย่างมากที่เยอรมนีไม่สามารถจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามตามกำหนดเวลาและเห็นว่าการผิดสัญญาของเยอรมนีเกิดจากความจงใจมิใช่เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ในครั้งแรกปวงกาเรต้องการให้อังกฤษร่วมมือกับฝรั่งเศสใช้มาตรการควํ่าบาตรเยอรมนีในต้น ค.ศ. ๑๙๒๒ โดยจะยังไม่ใช้มาตรการทางการทหาร แต่ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ ปวงกาเรต้องเผชิญกับนโยบายของอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาที่ไม่สนับสนุนการบีบบังคับเยอรมนีให้จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซาย และในขณะเดียวกันฝรั่งเศสก็ต้องการนำเงิน วัตถุดิบ และวัสดุจากเยอรมนี เช่น ถ่านหิน ไม้เพื่อนำมาใช้ในการบูรณะฟื้นฟูอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน หลังจากที่อังกฤษปฏิเสธที่จะร่วมมือกับฝรั่งเศส ปวงกาเรจึงตัดสินใจส่งหนังสือไปถึงเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในกรุงลอนดอนมีใจความสำคัญว่า อังกฤษเชื่อว่าการที่เยอรมนีมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซายเพราะว่าเยอรมนีไม่ได้เห็นด้วยกับเงื่อนไขเหล่านั้นมาแต่ต้น แต่ในทางตรงข้ามประชาชนชาวฝรั่งเศสกลับเชื่อว่า การที่เยอรมนีบิดพลิ้วไม่ยอมทำตามสัญญา เพราะว่าเยอรมนีไม่ได้รับการยืนยันอย่างมั่นคงในความผิดและความพ่ายแพ้ของตนเอง ฝรั่งเศสจึงเชื่อว่าเยอรมนีในฐานะประเทศจะรักษาสัญญาต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น

 ในวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๓ ปวงกาเรจึงตัดสินใจส่งกองทัพเข้าไปยึดครองแคว้นรูร์ของเยอรมนีเพื่อบีบบังคับให้เยอรมนีจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามทั้งในรูปของเงินและวัสดุแก้ฝรั่งเศสตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซาย เยอรมนีตอบโต้การยึดครองดังกล่าวด้วยการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ในบริเวณรูร์-ไรน์แลนด์ ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศแทนการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามตามคำเรียกร้องของฝรั่งเศส นอกจากนี้ การยึดครองรูร์-ไรน์แลนด์ยังก่อให้เกิดการต่อต้านจากนักการเมืองฝ่ายค้านอย่างรุนแรง และเมื่อการยึดครองแคว้นรูร์ไม่ได้ผลเพราะไม่ได้ทำให้เยอรมนีจ่ายหนี้ค่าปฏิกรรมสงครามแต่ประการใด ทั้งยังก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่ฝรั่งเศสเองด้วยใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ปวงกาเรจึงออกคำสั่งให้ถอนทหารออกจากบริเวณดังกล่าวอันเป็นการยุติการยึดครอง ซึ่งทำให้บรรยากาศทางการเมืองภายในและระหว่างประเทศดีขึ้นในระดับหนึ่ง ในวันที่ ๒๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ มีการปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้งแต่ปวงกาเรก็ยังคงได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามเดิม นับเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๓ ของเขา ในช่วงนี้ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจยังคงเป็นปัญหาใหญ่อันดับ ๑ ของประเทศ ปวงกาเรจึงตัดสินใจลดค่าเงินฟรังก์รวมทั้งใช้มาตรการเพิ่มภาษีในปีเดียวกันการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้เขาถูกโจมตีจากฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรง และได้กลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ และพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๔

 อย่างไรก็ดี วิกฤติทางเศรษฐกิจก็ทำให้ปวงกาเรกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๒๖ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ ๔ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยตั้งแต่วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๖ จนถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๘ ซึ่งมีการปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้งโดยที่เขายังได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่จึงนับเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๕ ของเขาในรัฐบาลปวงกาเร ๔ และ ๕ นี้เขายังได้แต่งตั้งอารีสตีด บรียอง (Aristide Briand)* ซึ่งมีนโยบายร่วมมือกับเยอรมนีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสดีขี้นมากผลงานที่โดดเด่นของปวงกาเรในช่วงนี้คือการแก้ปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจใน ค.ศ. ๑๙๒๘ โดยการลดค่าเงินฟรังก์อีกครั้ง และใช้ทองคำเป็นมาตรฐานสำรองเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงิน ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างความสมดุลทางงบประมาณและลดภาระหรือจำกัดภาระของผู้เสียภาษีให้น้อยลง นโยบายดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นมากฝรั่งเศสจึงกลับคืนสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอีกครั้งแม้จะเป็นในช่วงสั้น ๆ ก็ตามเพราะตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๒๙ ฝรั่งเศสและประเทศยุโรปอื่น ๆ ก็เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่ (Great Depression)* ที่เกิดขึ้นก่อนในสหรัฐอเมริกา ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในช่วงนั้นก็ทำให้ปวงกาเรได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวฝรั่งเศสอย่างกว้างขวาง ส่วนทางด้านการทหาร เขาก็จัดให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านกำลังกองทัพและความมั่นคงให้สูงขึ้น รวมทั้งนำนโยบายต่อต้านลัทธิสังคมนิยมและภัยคุกคามจากลัทธิบอลเชวิค (Bolshevism) มาใช้ด้วย

 อย่างไรก็ดี ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ ปวงกาเรก็ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องจากมีปัญหาทางด้านสุขภาพที่เสื่อมโทรมลง เขาใช้เวลาที่เหลือเขียนบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตและการทำงานของเขาในชื่อ Au Service de la France (ค.ศ. ๑๙๒๖-๑๙๓๓) รวม ๑๐ เล่ม

 เรมง ปวงกาเรถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ ขณะอายุ ๗๔ ปี นอกจากงานเขียนเป็นจำนวนมากที่มีการแปลบางเล่มออกเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ปวงกาเรยังมีผลงานทางด้านกฎหมายที่เขาทิ้งไว้เป็นมรดกของประเทศคือกฎหมายยกเลิกการเปลี่ยนสัญชาติที่เขาเป็นผู้เสนอใน ค.ศ. ๑๙๑๕ ซึ่งสามารถนำมาใช้กับพลเมืองฝรั่งเศสที่มีเชื้อสายของ “ศัตรู” ของชาติ ซึ่งจะต้องใช้สัญชาติตามกำเนิดเดิมต่อไป กฎหมายฉบับนี้เป็นพื้นฐานของกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ประกาศใช้ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ที่กำหนดให้รัฐบาลสามารถยกเลิกสัญชาติของพลเมืองใหม่ที่มีการกระทำหรือพฤติกรรมอันขัดต่อผลประโยชน์ของชาติฝรั่งเศสได้.



คำตั้ง
Poincaré, Raymond
คำเทียบ
นายเรมง ปวงกาเร
คำสำคัญ
- กองแบตตา, เลอง
- การยึดครองรูร์
- เกลมองโซ, ชอร์ช
- ซาร์รียง, ชอง มารี แฟร์ดีนอง
- ดูปุย, ชาร์ล
- ตูร์แปง, เออแชน
- บรียอง, อารีสตีด
- บอลเชวิค
- ปวงกาเร, เรมง
- พรรคอนุรักษนิยม
- ฟอช, จอมพล แฟร์ดีนอง
- ฟอลลีแยร์, อาร์มอง
- ภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่
- มักมาอง, ปาตรีซ
- ลัทธิบอลเชวิค
- ลัทธิสังคมนิยม
- แวร์น, ชูล
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สัญญาสงบศึก
- สันนิบาตชาติ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1860-1934
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๐๓-๒๔๗๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-